ประกันสุขภาพ รู้ไว้ ไม่โดนหลอก


  • หลังจากโพสก่อนหน้านี้ เราได้พูดคุยกันในเรื่องของประกันชีวิตไปแล้วนั้น วันนี้อยากจะมาชวนคุยในเรื่องของประกันสุขภาพกันบ้าง เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้ทุกคนนำข้อมูลไปใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อประกันสุขภาพให้ตรงตามความต้องการของตัวเอง ไม่ใช่ซื้อตามความต้องการทำยอดของใคร

  • ก่อนอื่นเลยเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ประกันสุขภาพ เป็นอนุสัญญาหรือสัญญาเพิ่มเติม ซื้อได้ก็ต่อเมื่อเราซื้อพ่วงไปกับประกันชีวิต(สัญญาหลัก) โดยประกันสุขภาพ(อนุสัญญา)นี้ให้ความคุ้มครองแบบปีต่อปีโดยจะให้ความคุ้มครองตราบเท่าที่เรายังชำระเบี้ยอยู่และสัญญาหลักยังไม่จบลง นั่นหมายความว่า ถ้าเราอยากได้ความคุ้มครองจากประกันสุขภาพที่มีความต่อเนื่องยาวนาน เราควรซื้อพ่วงเข้ากับสัญญาหลักที่เป็นประกันชีวิตแบบตลอดชีพ

  • ลองจินตนาการว่า ถ้าวันนี้เราเลือกที่จะพ่วงตัวประกันสุขภาพเข้ากับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ระยะเวลาคุ้มครองมากสุดอาจจะ 25 ปี และเมื่อสัญญาครบกำหนดอายุ ถึงตอนนั้นเราก็จะไม่มีประกันชีวิตไว้ใช้สำหรับซื้อประกันสุขภาพพ่วงท้ายแล้ว 

  • บางคนอาจจะแย้งว่าถึงตอนนั้นค่อยซื้อใหม่หมดทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพก็ได้หนิ ซึ่งความคิดนี้ก็ไม่ผิด แต่เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าอีก 25 ปีข้างหน้า สุขภาพเราจะยังแข็งแรงอยู่เหมือนเดิม โดยทั่วไปแล้วบริษัทประกันจะรับทำประกันให้กับคนที่ยังมีสุขภาพดีอยู่  ถ้าเราป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งแล้ว โรคนั้นมักจะถูกงดเว้นไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัท หรือบางโรคเป็นแล้ว บริษัทประกันจะไม่รับทำประกันเลย เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมองตีบ เป็นต้น ทางที่ดีเราจึงควรซื้อประกันสุขภาพพ่วงกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพจะดีกว่า

  • สำหรับใครที่อ่านมีถึงตรงนี้ น่าจะเริ่มอยากรู้แล้วว่า ประกันสุขภาพมันมีความคุ้มครองแบบไหนมั่ง ซึ่งแต่ละบริษัทประกันก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาหลากหลาย โดยสามารถจับกลุ่มประเภทความคุ้มครองหลักๆ ได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

1. ค่ารักษาพยาบาล

เป็นความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในกรณีที่เราเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยสามารถแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ 

ผู้ป่วยใน (IPD) เป็นการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ที่ต้องมีการนอนที่โรงพยาบาล หรือรับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป  

ความคุ้มครองในส่วนของ IPD เป็นสิ่งที่คนวางแผนการเงินส่วนบุคคล ควรมีเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากเราต้องการที่จะปิดความเสี่ยงในส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่เราคาดไม่ถึง พวกเคสหนักๆ ค่ารักษาพยาบาลเป็นแสนๆ  การมีประกันสุขภาพในส่วนของ IPD นี้ จะช่วยปิดความเสี่ยงให้เรา

ปัจจุบัน IPD หลักๆที่ขายกันอยู่ทั่วไปในท้องตลาดมีสองแบบ ด้วยกัน นั่นคือ HS(แบบเก่า) และแบบเหมาจ่าย(แบบใหม่) โดยแต่ละบริษัทก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป

ข้อแตกต่างระหว่างสองแบบนี้ คือ แบบ HS นั้น เบี้ยชำระรายปีจะถูกกว่าแต่มีความคุ้มครองที่ค่อนข้างจำกัด (แนะนำว่าให้อ่านเงื่อนไขดีๆ มักมีการงดเว้นความคุ้มครองซ่อนไว้อยู่มากมาย) เหมาะสำหรับคนที่มีงบประมาณที่จำกัดแต่อยากได้ความคุ้มครองมาช่วยปิดความเสี่ยงในระดับหนึ่ง 

ส่วนแบบเหมาจ่ายนั้น ความคุ้มครองก็จะเป็นแบบเหมาจ่ายภายในวงเงินตามแผนที่เราเลือกซื้อ จะมีการจำกัดวงเงินความคุ้มครองบางรายการ เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าพยาบาล ค่าคุณหมอ ค่ายากลับบ้าน เป็นต้น และด้วยความที่บริษัทให้ความคุ้มครองแบบเหมาจ่าย ราคาเบี้ยต่อปีก็จะสูงกว่า HS  แนะนำว่าให้ลองเปรียบเทียบดูทั้งสองแบบเพื่อดูว่าแบบไหนตรงกับความต้องการ และความสามารถในการจ่ายเบี้ยของเรามากที่สุด

ผู้ป่วยนอก (OPD) เป็นการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล ส่วนมากมักจะเป็นเคสที่ไม่หนักหนาสาหัส เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ แค่พบคุณหมอ แล้วก็รับยากลับบ้านได้เลย

สำหรับใครที่มีงบประมาณจำกัด หรือมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องซื้อความคุ้มครองในส่วนของ OPD ก็ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้โดยมากจะไม่สูงมากนัก (ไม่ถึงแสน) อยู่ในระดับที่เราสามารถจ่ายได้เอง แต่ถ้าใครเป็นสายขี้นอย เอะอะ ต้องหาหมอก็สามารถซื้อความคุ้มครองประเภทนี้ติดตัวไว้ก็ได้

2. เงินชดเชย

เป็นเงินที่บริษัทประกันจะจ่ายให้ผู้เอาประกัน เมื่อเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด สามารถแบ่งออกเป็นเป็น 2 ประเภท คือ 

เงินชดเชยรายวัน (Hospital Benefit) บริษัทประกันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันเป็นเงินชดเชยรายวันในกรณีที่มีการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน หรือรับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป  โดยจำนวนเงินที่เราจะได้รับแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับแผนความคุ้มครองที่เราเลือกซื้อและรายได้ปัจจุบันของเรา

บางบริษัทอาจเพิ่มลูกเล่นในผลิตภัณฑ์ เช่น จ่ายเงินชดเชยเพิ่มให้อีก 20 เท่ากรณีมีการนอนพักรักษาตัวด้วยโรคร้ายแรง หรือการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบริษัท

แนะนำสำหรับคนที่อยากได้ค่าห้องในกรณีนอนพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (IPD) เพิ่มขึ้น อาจจะเลือกซื้อเป็นเงินชดเชยรายวัน(HB)นี้แทนก็ได้ เพราะเพื่อให้ได้เงินชดเชย 1,000 บาทต่อวัน ราคาเบี้ยจ่ายสำหรับเงินชดเชยรายวัน(HB) จะถูกกว่าราคาเบี้ยจ่ายเพื่ออัพแผนค่ารักษาพยาบาล (IPD) เป็นแผนที่มีวงเงินที่สูงกว่าเดิม

เงินชดเชยกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป็นความคุ้มครองที่เราได้รับ หากเราเกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ โดยความสูญเสียที่บริษัทจะคุ้มครองประกอบนั้น ไปด้วย การสูญเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และการสูญเสียเวลา 

บางคนอาจจะสงสัยว่าคำว่าสูญเสียเวลาหมายถึงอะไร การสูญเสียเวลา หมายถึง ผลจากการที่เราประสบอุบัติเหตุนั้นทำให้เราไม่สามารถทำงานได้หรือทำได้แต่ก็ไม่สะดวก  โดยแต่ละบริษัทประกันจะกำหนดวงเงินชดเชยในกรณีนี้ให้ แตกต่างกันออกไป  และเราสามารถเลือกได้ว่าอยากได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนตัวเคยคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีความคุ้มครองนี้ก็ได้(เสียดายเงินค่าเบี้ยนั่นหล่ะ 5555) แต่ล่าสุดที่โดนมีดบาด เย็บไป 4 เข็ม ก็ได้เงินชดเชยในส่วนนี้มา ไม่ใช่เพราะนิ้วขาด! แต่เพราะซื้อความคุ้มครองแบบ AI ซึ่งคุ้มครองการสูญเสียชีวิต,อวัยวะและเวลา (นิ้วโป้งใช้งานไม่ได้ไปสองอาทิตย์ค่าาา T_T)  ซึ่งเงินชดเชยที่ได้มาก็ประมาณสองพันกว่าบาท เทียบกับราคาเบี้ยต่อปีที่จ่ายไปไม่ถึงหนึ่งพันบาท ถือว่าคุ้มแล้วที่ตัดสินใจซื้อความคุ้มครองนี้ไว้ค่ะ 

3. โรคร้ายแรง

โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเบาหวาน ฯลฯ กลุ่มประเภทโรคที่ฟังดูแล้วอาจจะไกลตัว ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ถ้าใครเกิดแจ๊คพอตเป็นโรคเหล่านี้ขึ้นมา ย่อมต้องเสียค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่และใช้เวลาในการรักษาต่อเนื่องยาวนาน บริษัทประกันจึงได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปิดความเสี่ยงในกลุ่มโรคร้ายแรงเหล่านี้ออกมา เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเรา  

แต่ละบริษัทก็จะมีความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นเคสเจอ จ่าย กล่าวคือ ถ้าเราเป็นโรคตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์บริษัทจะจ่ายเงินก้อนชดเชยให้กับเรา โดยที่บางโรคอาจจะจ่ายตามอาการของโรคที่เกิด เช่น โรคมะเร็ง ถ้าเป็นในระยะเริ่มต้น จ่ายให้ 10% ของทุนประกัน และถ้าเป็นในระยะลุกลามจะจ่ายให้ 100% ของทุนประกันหรือบางเจ้าอาจจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือโดยหักเงินชดเชยก้อนแรกที่จ่ายให้แล้วในระยะเริ่มต้นออกจากทุนประกันของเรา  ซึ่งในส่วนนี้ให้เราควรศึกษารายละเอียดของแต่ละแบบประกันให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

ตัวความคุ้มครองโรคร้ายแรง ราคาเบี้ยค่อนข้างถูกสำหรับคนอายุน้อยๆ แต่จะมีการปรับราคาเบี้ยขึ้นทุกปี  เราอาจต้องพิจารณาดูว่า ถ้าราคาเบี้ยมีการปรับสูงขึ้นเรื่อยๆแล้วเงินที่เราต้องจ่ายทั้งหมดเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับมันคุ้มกันมั้ย 

สำหรับคนที่ไม่ชอบการจ่ายเบี้ยทิ้งสำหรับโรคร้ายแรง มีบางบริษัทที่ออกผลิตภัณฑ์ให้ความคุ้มครองในส่วนของโรคร้ายแรงจนกระทั่งผู้เอาประกันอายุ 85 ปี หรือ 90 ปี โดยที่ราคาเบี้ยนั้นจ่ายในอัตราคงที่ทุกปีในช่วงเวลาหนึ่ง และถ้าเราไม่ได้มีการเคลมเงินชดเชยโรคร้ายใดๆ เราก็จะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญาอีกด้วย

4. ความคุ้มครองผู้ชำระเบี้ย

สามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่มคือ

กรณีผู้ชำระเบี้ยทุพพลภาพ ในกรณีที่ผู้เอาประกันซื้อประกันชีวิตไว้แล้วเกิดโชคร้ายกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ ซึ่งอาจเกิดจากความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุก็แล้วแต่  บริษัทจะทำการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตรวมถึงให้ความคุ้มครองชีวิตกับผู้เอาประกันตามทุนประกันเดิมที่เคยมี เสมือนว่าผู้เอาประกันเป็นคนจ่ายชำระเบี้ยประกันชีวิตเอง

กรณีคุ้มครองผู้ชำระเบี้ย สำหรับการซื้อประกันให้กับผู้เยาว์นั้น เนื่องจากผู้เยาว์ยังไม่มีความสามารถในการหารายได้มาจ่ายเงินค่าเบี้ยด้วยตัวเอง และหากผู้ชำระเบี้ยเสียชีวิตไปก่อนหรือเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ใครจะมาจ่ายเบี้ยต่อให้กับผู้เยาว์ ดังนั้นบริษัทประกันจึงมีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ชำระเบี้ย  โดยหากผู้ชำระเบี้ยเสียชีวิตไปก่อน บริษัทจะทำการจ่ายเบี้ยทั้งประกันชีวิต(สัญญาหลัก)และประกันสุขภาพ(สัญญาเพิ่มเติม)ให้กับผู้เยาว์จนครบกำหนดสัญญา โดยที่ผู้เยาว์จะยังคงได้รับความคุ้มครองครบถ้วนตามเดิม รวมถึงได้รับเงินคืนจากประกันชีวิตเมื่อครบกำหนดสัญญาอีกด้วย

  • เป็นยังไงกันมั่งคะ สำหรับรายละเอียดของประกันสุขภาพ หวังว่าทุกคนจะมีความเข้าใจ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อช่วยปิดความเสี่ยง เสริมสร้างฐานการเงินของเราให้มั่นคง และสามารถต่อยอดไปสู่การออมและการลงทุนของเราต่อไป

  • สำคัญที่สุดคือไม่ว่าจะเลือกซื้อประกันกับบริษัทไหน เราควรศึกษารายละเอียดของแต่ละแบบประกันให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ  สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง โรคภัยไม่ถามหานะค้า ❤

มีประกันแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มีนะคะ แฮร่