สรุปเนื้อหา 6 Jars Management


สวัสดีค่าทุกคน เมื่อวาน(17.08.20) แอดได้มีโอกาสฟัง Live ในหัวข้อ “แก้ไขปัญหาการเงินด้วยหลักคิด 6 Jars Management” จาก aomMONEYCLINIC ซึ่งเป็นการพูดคุยกันระหว่าง พรี่หนอมTax Guru ชื่อดังเจ้าของเพจ Taxbugnoms และพี่หนึ่ง aomMONEY Guru จากเพจมาดามฟินนี่  วันนี้เลยอยากจะมาสรุปประเด็นที่น่าสนใจให้ทุกคนได้อ่านกันค่า

สำหรับแนวคิดเรื่อง 6 Jars Management ถูกคิดค้นโดย T Harv Eker เจ้าของหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind (เล่มแปลไทยชื่อ ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน) โดยคอนเซ็ปต์ของการบริหารเงินด้วยแนวคิดดังกล่าว นั้นคือการแบ่งเงินไว้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เพื่อความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

โดยเราจะแบ่งเงินออกเป็น 6 กระปุก(6 Jars) ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน โดยสัดส่วนนี้ เราอาจปรับเพิ่มลดได้ตามความเหมาะสมของเรา ซึ่งทั้ง 6 กระปุกนั้น ประกอบไปด้วย

หนึ่ง จำเป็น (55%)

เงินในกระปุกนี้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เราสามารถดำรงชีพ และออกไปทำงานหาเงินได้ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด ซึ่งถ้าเราสามารถจะลดขนาดมันลงให้เหลือสัก 45% – 50% เราก็สามารถนำส่วนที่เหลือไปใส่ในกระปุกอื่นได้ (แต่ส่วนใหญ่ ค่าใช้จ่ายในกระปุกนี้มักจะลดขนาดได้ยาก เพราะขนาดค่าผ่อนบ้านผ่อนรถก็รวมอยู่ในกระปุกนี้เลยค่า)

Tips ถ้าอยากลดสัดส่วนในกระปุกนี้ ต้องระวังพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองไม่อัพเกรดรายจ่ายตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เรามีเงินเหลือเก็บ สามารถนำไปใส่ในกระปุกอื่นเพื่อให้เงินงอกเงยต่อไป

สอง ไม่แตะ (10%)

เงินที่เก็บยาวเพื่อการเกษียณ บางคนอาจจะมองว่า โหยเก็บตั้ง 10% เยอะจัง ไม่เหลือเงินให้ไปทำอย่างอื่น บางคนอาจจะคิดว่ารอเงินเดือนเยอะกว่านี้ค่อยเก็บก็ได้  ให้ลองคิดเล่นๆว่า เราจะเกษียณตัวเองที่อายุเท่าไหร่  และเราจะใช้ชีวิตอีกกี่ปีหลังเกษียณ โดยที่ไม่ได้มีรายได้จากการทำงานแล้ว ช่วงเวลานั้นเราจะต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่ (อย่างน้อยๆต้องมี 5 ล้านบาท) 

เมื่อคิดได้แบบนี้แล้ว เราจะเริ่มเห็นภาพแล้วว่าเงิน 10% ที่เราเก็บในวันนี้ไม่ใช่จำนวนที่เยอะเลย พี่หนึ่งมาดามฟินนี่ เปรียบเทียบให้ฟังว่า การเก็บเงินในกระปุกนี้ก็เหมือนเราแบ่งเงิน 10 ส่วนจากรายได้ของเรา โยนไปข้างหน้า เพื่อที่อนาคตเราเดินไปเราจะได้เจอเงินเหล่านั้น แต่ถ้าวันนี้เราไม่โยนเงินไปก่อน วันข้างหน้าเราเดินไปก็คงไม่เจอเงิน

อีกประโยคที่สะกิดใจมาก คือ วันนี้เวลาเราเจอคนแก่ที่ไม่มีเงิน เดินเข้ามาขอเงิน เรายังรู้สึกสงสารเลย แล้วเราไม่รู้สึกสงสารตัวเองหรอที่วันข้างหน้าเราจะเป็นคนแก่ที่ไม่มีเงิน ถ้าเราไม่เริ่มเก็บเงินให้กับตัวเองตั้งแต่วันนี้ เฉียบค่ะ!!!!

สาม เก็บยาว (10%)

เงินในกระปุกนี้จะแตกต่างจาก กระปุกที่สอง(ไม่แตะ) ตรงที่เราจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เหมาะสำหรับการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายก้อนใหญ่ตามวัตถุประสงค์ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ท่องเที่ยวต่างประเทศ นอกจากนี้เรายังสามารถเก็บเงินสดสำรองของเราไว้ในกระปุกนี้ได้เช่นกัน

ซึ่งเงินในกระปุกนี้ ถ้าเหลือหรือไม่ได้ใช้ ให้เราโยนไปเก็บไว้ในกระปุกที่สอง(ไม่แตะ)แทน 

สี่ พัฒนาตัวเอง (10%)

หนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุด คือ การลงทุนกับตัวเอง เงินในกระปุกนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการหารายได้เพิ่มขึ้น เช่น ซื้อหนังสือมาอ่าน สมัครคอร์สเรียน เข้าฟังอบรมสัมมนา โดยเทคนิคที่น่าสนใจ คือ เราต้องรู้ว่าทักษะไหนเป็นที่ต้องการในสายอาชีพเรา ไม่ว่าจะเป็น ภาษา หรือ Soft Skill (การติดต่อสื่อสารหรือทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ) สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเรา และนำไปสู่โอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มในที่สุด

ห้า บันเทิง (10%)

กระปุกนี้เป็นเงินที่เรานำมาใช้สำหรับกิจกรรมสร้างสุข ไม่ว่าจะเป็น ดูหนัง บอร์ดเกมส์ หมูกะทะ ชานมไข่มุก หรือท่องเที่ยว เพื่อสร้างความสุขผ่อนคลายให้ตัวเอง ซึ่งกระปุกนี้บางคนอาจจะมองว่า ตัดทิ้งก็ได้เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายทางการเงินให้เร็วที่สุด แต่แท้ที่จริงแล้วเราไม่ควรที่จะบีบตัวเองมากจนเกินไปควรมีช่วงเวลาที่เราได้ปลดปล่อยความเครียดของเราออกมาบ้าง เพราะชีวิตมีไว้ใช้ ถ้า “ชีวิตไม่ใช้ ไม่ใช่ชีวิต”(แอบยืมประโยคเด็ดของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์มาค่า ><)

หก การให้ (5%)

การแบ่งปันให้ผู้อื่น เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเรามีเหลือ เราจึงสามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการแบ่งปันให้กับผู้อื่นคือ จะต้องไม่เบียดเบียนตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต การให้มากเกินไปจนไม่เหลือเงินเก็บสำหรับกระปุกอื่นๆ อาจเป็นการเบียดเบียนตัวเองในปัจจุบันในแง่ที่ไม่มีเงินเพื่อใช้สร้างสุขกับกิจกรรมเล็กๆน้อยๆให้ตัวเอง หรือ เบียดเบียนตัวเองในอนาคตเพราะไม่มีเงินเหลือเก็บสำหรับใช้หลังเกษียณ

สำหรับแนวทางในการลงมือปฏิบัติตามแนวคิด 6 Jars Management นั้น เราอาจจะทำได้หลายวิธีตามความถนัดของแต่ละคน เช่น แยกบัญชี โดยเปิดบัญชีธนาคารแยกเล่มชัดเจนไปเลย หรือ แยกซองใส่เงิน แบบวิธีโบราณ หาซองมา เขียนหน้าซองบอกวัตถุประสงค์ของเงินในแต่ละซองแล้วนำเงินเก็บเข้าไปตามสัดส่วน หรืออาจะใช้วิธีการจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงทำงบประมาณในแต่ละเดือนเพื่อเทียบ กันว่า แผนการเงินที่วางไว้(งบประมาณ) เทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง(จากบัญชีรายรับรายจ่าย) มันแตกต่างกันมั้ย และเงินส่วนใหญ่นั้นไหลไปที่ตรงไหน

ส่วนตัวรู้สึกชอบเนื้อหาที่ aomMONEY CLINIC หยิบขึ้นมาพูดคุยกันในวันนี้ แนวคิด 6 Jars Management  เป็นแนวคิดที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และที่สำคัญถ้าใครสามารถปฏิบัติตามแนวคิดนี้ได้อย่างมีวินัย จะช่วยสร้างสุขให้เกิดขึ้นได้ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

เพื่อนๆคนไหน ลองทำตามแนวทางนี้อยู่แล้ว หรือมีความคิดเห็นกับแนวคิดนี้ยังไง ลองแสดงความคิดเห็นกันมาได้ใต้โพสต์นี้เลยนะค้า

สำหรับใครที่อยากฟัง Live แบบเต็มๆ สามารถตามไปฟังได้ที่ https://bit.ly/2Q4QdJm


Comments

Leave a comment