ค้นหางานที่ใช่!! ไปกับหนังสือ Designing Your Life ตอนที่ 1/4


บทความนี้จะสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจจากหนังสือ Designing Your Life ที่ส่วนตัวคิดว่าลองทำตามได้ง่าย ได้ผลจริง โดยสรุปเนื้อหามาทั้งหมด 4 ตอน สำหรับใครอยากอ่านเนื้อหาแบบเต็มๆ ลองไปหาซื้อหนังสือได้ ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ภาษาอ่านง่าย เนื้อหาน่าติดตาม สนนราคาอยู่ที่เล่มละ 295 บาทเท่านั้น หรือถ้าใครขี้เกียจอ่านเล่มเต็ม ติดตามอ่านกับเราในโพสนี้ได้เลยค่าาา

คำถามที่ไม่มีคำตอบ

คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร งานที่เราทำอยู่นั้น แท้จริงแล้วใช่สิ่งที่เราชอบรึเปล่า เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน งานที่เราชอบเป็นยังไงกันแน่ เราเองก็เป็นหนึ่งคนที่ไม่สามารถหาคำตอบให้คำถามเหล่านี้ได้เช่นกัน หลายครั้งรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ Spark joy ให้กับเราสักเท่าไหร่ รู้แค่ว่ามันสร้างรายได้ที่ดีให้เราเท่านั้นเอง แต่ลึกๆแล้วยังมีคำถามที่ติดอยู่ในใจเสมอ นั่นคือ เรามีความสุขกับงานที่ทำอยู่หรือเปล่า 

บางคนอาจติดกับดักอยู่กับงานปัจจุบัน เพราะเค้าเหล่านั้นเลือกเส้นทางเดิน ตามการตัดสินใจของเด็กวัย 17 ปี เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ยังอ่อนประสบการณ์ และไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วตัวเองชอบอะไรกันแน่ เราจะปล่อยให้ตัวเราในวัยเด็กเป็นคนกำหนดทิศทางชีวิตทั้งชีวิตของเราจริงๆหรอ หนังสือเล่มนี้จึงชวนให้เรามาลองทบทวนตัวเอง ค้นหาความชอบหรือความสนใจที่แฝงอยู่ในตัวเราเพื่อออกแบบชีวิตในฝันให้เป็นจริง

Designing Your Life

คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณ เมย์ ศรีพัฒนากุล มาจากหนังสือต้นฉบับชื่อเดียวกันที่เขียนโดยบิล เบอร์เนตต์และเดฟ อีวานส์ ทั้งสองร่วมกันเปิดหลักสูตรคอร์สออกแบบชีวิตให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Stanford เพื่อช่วยนักศึกษาในการค้นหาว่าพวกเค้าควรจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด 

ความตั้งใจของทั้งคู่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การช่วยนักศึกษาในมหาวิทยาลัย Stanford ค้นหาตัวเองเท่านั้น แต่ทั้งสองยังจัดทำกิจกรรมเวิร์กช็อป “ออกแบบชีวิตคุณเอง” ให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมได้ ผ่านทางเว็บไซต์ designingyour.life และยังร่วมกันแต่งหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ผู้ที่อยากออกแบบชีวิต ได้ทดลองลงมือทำตามได้ง่ายๆด้วยตัวเอง 

On Designing Your Work Life with Bill Burnett and Dave Evans ...
บิล เบอร์เนตต์และเดฟ อีวานส์ผู้ริเริ่มคอร์สเรียน Designing Your Life ที่มหาวิทยาลัย Stanford

อยากออกแบบชีวิต ต้องทำยังไง?

อันดับแรกบิลและเดฟ แนะนำผู้ที่สนใจออกแบบชีวิต ให้ทำการปรับทัศนคติซะก่อน โดยทัศนคติพื้นฐานที่ควรมีนั้น คือ 

  • จงช่างคิดช่างสงสัย ถือเป็นหลักสำคัญในการออกแบบชีวิตที่ดี เพราะมันทำให้เรารู้สึกสนุกและอยากลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆไปได้ไม่รู้จบ 
  • การทดลองลงมือทำ หลายคนมักเป็นเจ้าโปรเจกต์ คิดอยากทำนู่นนี่ สารพัด แต่ไม่เคยลงมือทำ ซึ่งนั่นไม่ใช่วิถีแห่งการออกแบบชีวิตที่ดี อย่ามัวแต่จมอยู่กับความคิด เปลี่ยนเป็นการลงมือทำแล้วเรียนรู้แทน
  • มองมุมกลับ ปรับมุมมอง สำหรับบางปัญหาที่เราแก้ไขไม่ได้ เราอาจจะต้องลองถอยออกมา หรือปรับเปลี่ยนมุมมองแทน ปัญหาในการออกแบบเกือบทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติแทน
  • เข้าใจว่านี่คือกระบวนการ บางครั้งสิ่งที่เราลงมือทำอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราทำได้คือการปล่อยวางและทำความเข้าใจว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
  • ร่วมมือกันอย่างลึกซึ้ง การออกแบบที่ดีนั้นมักเกิดจากความร่วมมือกันจากหลายๆฝ่าย ให้เราลองมองหาคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องที่เราสนใจ แล้วลองขอคำแนะนำจากเค้าเหล่านั้นดู สิ่งนี้จะช่วยให้การออกแบบชีวิตของเราทำได้ง่ายขึ้น

ไม่รู้ว่าหลงใหลในเรื่องอะไร…ก็ไม่เป็นไร

สำหรับใครที่เคยมีความเชื่อเดิมว่า เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า เราหลงใหลในเรื่องอะไร เราจึงจะสามารถออกแบบชีวิตเราได้ ข่าวดีคือ มันไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้อง! บิลและเดฟบอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีทางรู้ว่าตัวเองชอบอะไร จนกว่าเค้าเหล่านั้นจะได้ลองลงมือทำ สิ่งที่เราควรทำนั้นคือ ออกแบบเส้นทางชีวิตของเราออกมาให้หลากหลาย แล้วมาพิจารณาว่าทางเลือกไหนน่าจะเป็นรูปแบบชีวิตที่เหมาะสมกับเรา

two person standing on gray tile paving

สมการชีวิตดีๆ คืออะไร

สมการ การมีชีวิตดีๆจากการออกแบบนั้นเกิดจาก การค้นหาปัญหา บวก การแก้ปัญหา จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปแก้ไขปัญหาที่ผิด  บางคนเลือกที่จะย้ายงานจากสายการเงิน เพียงเพราะไม่ชอบเพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิตเดิม เพื่อไปพบกับความจริงที่ว่า เค้าไม่ชอบงานด้านการขายที่ออฟฟิตใหม่มากกว่า นั่นเป็นเพราะ เค้าเหล่านั้นแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การค้นหาปัญหาที่แท้จริงนั้น สำคัญพอๆกับการแก้ปัญหา ดังนั้น ขั้นตอนแรกของการออกแบบชีวิต คือเราควรรู้ให้ชัดก่อนว่า เรากำลังเจออยู่กับปัญหาอะไร

ปัญหาที่เราเจออยู่ ใช่ปัญหาแรงโน้มถ่วงรึเปล่า

บิลและเดฟแบ่งปัญหาออกเป็น 2 ประเภท คือ 

ประเภทแรกคือ ปัญหาแรงโน้มถ่วง เป็นปัญหาที่เราไม่มีทางแก้ไขได้ พวกการฝืนกฏธรรมชาติ เช่น การพยายามปั่นจักรยานต้านแรงโน้มถ่วง คนที่ว่างงานมาห้าปีและพยายามหางานให้ได้ในเร็ววัน หรือคนนอกที่อยากก้าวหน้ากับการทำงานในธุรกิจครอบครัว เป็นต้น ประเภทที่สอง คือ ปัญหาที่แก้ไขได้ยากในทางปฏิบัติ เป็นปัญหาที่เราพอจะแก้ไขมันได้ แต่ต้องทุ่มเทแรงกายเป็นแรงใจอย่างมากและมีโอกาสที่จะล้มเหลวสูง อย่างไรก็ตามปัญหาประเภทนี้คุ้มค่าที่จะลองเสี่ยงแก้ไขดูเพราะอย่างน้อยมันดีกว่าการที่เราเลือกจะไม่ลงมือทำอะไรเลยอย่างแน่นอน

บทสรุปใน Week 1

  • เราควรมีทัศนคติ พื้นฐาน 5 ข้อ ก่อนที่จะเริ่มต้นออกแบบชีวิต นั่นคือ จงช่างคิดช่างสงสัย, การทดลองลงมือทำ, มองมุมกลับ ปรับมุมมอง, เข้าใจว่านี่คือกระบวนการ และการร่วมมือกันอย่างลึกซึ้ง
  • ไม่รู้ว่าตัวเองหลงใหลในเรื่องอะไรไม่สำคัญ ขอแค่เราคิดทางเลือกงานที่เป็นไปได้ออกมาให้หลากหลาย สิ่งนี้จะเป็นวัตถุดิบที่ช่วยในการออกแบบชีวิตของเราได้ในที่สุด
  • สมการการมีชีวิตที่ดี = การค้นหาปัญหา + การแก้ปัญหา
  • แยกให้ออกว่าปัญหาที่เจอเป็นปัญหาประเภทไหน (ปัญหาแรงโน้มถ่วง หรือ ปัญหาที่แก้ไขได้ยากในทางปฏิบัติ)

สำหรับเนื้อหาในตอนต่อไป จะชวนทุกคนมาสำรวจชีวิตของตัวเอง ในแง่มุมต่างๆด้วยแบบฝึกหัดง่ายๆ สามารถติดตามอ่านสรุป week 2 ได้ในบทความถัดไปค่า