ค้นหางานที่ใช่!! ไปกับหนังสือ Designing Your Life ตอนที่ 2/4


เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเอง

แบบฝึกหัดแรกก่อนที่เราจะออกเดินทางไปกับการออกแบบชีวิตนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังยืนอยู่ที่จุดไหนและกำลังจะแก้ปัญหาอะไร บิลและเดฟให้เราทำการสำรวจและให้คะแนนตัวเอง (จาก 0 ถึงเต็ม) พร้อมเขียนคำอธิบายสั้นๆ  ในแต่ละหัวข้อ คือ

  • สุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
  • งาน ภารกิจที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน อาจจะมีรายได้หรือไม่มีก็ได้
  • กิจกรรมสร้างสุข กิจกรรมที่ทำแล้วสนุก เกิดความสุขใจ
  • ความรัก ในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกับพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หรือว่าคู่รัก
มาตรวัดในการสำรวจชีวิตในแต่ละด้าน

เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว เราจะเริ่มมองเห็นว่า ชีวิตของเราด้านไหนมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านไหนอยู่ในเกณฑ์ที่มีปัญหา ให้เราถามตัวเองว่าเราอยากจะแก้ไขปัญหาในเรื่องใด  ที่สำคัญ เราต้องพิจารณาว่า ปัญหานั้นเป็น “ปัญหาแรงโน้มถ่วง” รึเปล่า ถ้าใช่ สิ่งที่บิลและเดฟแนะนำ คือ การยอมรับมันซะ เพราะเราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ถ้ามันเป็นแค่ปัญหาที่แก้ไขได้ยากในทางปฏิบัติหล่ะก็ ขอแค่ลองเริ่มลงมือทำตามขั้นตอนการออกแบบชีวิต ปัญหาที่มีจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน 

สร้างเข็มทิศของตัวเอง

ลองจินตนาการว่าเราเดินหลงเข้าไปในป่าโดยที่ไม่มีเข็มทิศ การพยายามหาทางออกจากป่าคงต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นาน ในทางกลับกัน ถ้าเรามีเข็มทิศ การหาทางออกจะทำได้เร็วขึ้น ชีวิตก็เช่นกัน การมีเข็มทิศนั้น จะช่วยชี้บอกทิศทางที่ถูกต้อง ทำให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายที่แท้จริงได้โดยเสียเวลาลองผิดลองถูกน้อยที่สุด 

ตั้งคำถาม

หนึ่งในวิธีการคิดอย่างนักออกแบบคือ การเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามเพื่อปรับมุมมอง บิลและเดฟได้ให้แบบฝึกหัดในการสร้างเข็มทิศของตัวเอง โดยให้เราตั้งคำถามแล้วเขียนบรรยายคำตอบ ใน 2 หัวข้อ ใช้เวลาในการเขียนประมาณ 30 นาทีและเขียนไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ

  • มุมมองการงาน เราทำงานทำไม, เราทำงานเพื่ออะไร, งานที่ดีและคุ้มค่าเป็นยังไง, ค่าตอบแทนมีผลอย่างไร ฯลฯ
  • มุมมองชีวิต ทำไมเราถึงมาอยู่จุดนี้, ความหมายและจุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร, ความสัมพันธ์ ระหว่างเราและคนอื่นๆเป็นยังไง, ความดีความชั่วคืออะไร ฯลฯ

หลังจากนั้น ให้นำมุมมองทั้งสองมาเชื่อมโยงกัน แล้วพิจารณาว่าสองหัวข้อนี้ มีสิ่งไหนที่ส่งเสริมกัน และมีสิ่งไหนที่ขัดแย้งกัน มุมมองหนึ่งจะช่วยส่งเสริมอีกมุมมองหนึ่งได้ยังไง เช่น ถ้าเรามีมุมมองการงานว่า งานที่ดีควรจะเป็นงานที่ช่วยเหลือสังคม และมีมุมมองชีวิตว่า การได้ช่วยเหลือผู้อื่นคือวัตถุประสงค์ของชีวิต เมื่อนำทั้งสองมุมมองมาเชื่อมโยงจะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกัน ดังนั้น งานไหนที่ไม่เข้าข่ายลักษณะข้างต้น จะไม่ใช่งานที่เป็นคำตอบของเป้าหมายชีวิตเรา แบบฝึกหัดนี้จะช่วยให้เราตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกจากชีวิตได้ง่ายขึ้นและมีเข็มทิศสำหรับกำหนดกรอบเส้นทางชีวิตที่เราจะเดินต่อไป

ค้นหาเส้นทางชีวิต

แบบฝึกหัดต่อมา คือการค้นหาความชอบและความสนใจของตัวเอง สามารถทำได้ด้วยวิธีการแสนง่าย นั่นคือ การจดบันทึกประจำวัน หรือที่บิลและเดฟเรียกว่า บันทึกความสุข นั่นเอง

บันทึกความสุขจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน นั่นคือ บันทึกกิจกรรม และบททบทวน สำหรับคนที่สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดตารางบันทึกกิจกรรมได้ที่ www.designingyour.life ให้เราสังเกตและจดบันทึกกิจกรรมที่เราทำประจำวันพร้อมทั้งให้คะแนนใน 2 แง่มุม คือ 

  • ความสนใจ กิจกรรมที่เราทำนั้น เรามีความสนใจมากน้อยแค่ไหน
  • พลังงาน กิจกรรมที่เราทำ ให้พลังงานกับเราในแง่บวก หรือ ลบ
ตัวอย่าง ตารางบันทึกกิจกรรมของบิล จากหนังสือ Designing Your Life

ลองทำต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ โดยในช่วงปลายสัปดาห์ให้เขียนบททบทวนเพื่อประเมินว่ากิจกรรมไหนที่เรารู้สึกสนใจ กิจกรรมไหนที่ให้พลังงานกับเราหรือกิจกรรมไหนที่เราทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลินจนลืมเวลา (ภาวะลื่นไหล Flow Stage) สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราตกผลึกว่าเหตุการณ์ที่ได้เจอในชีวิตนั้น ส่งผลต่อความรู้สึกของเราอย่างไร ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเป็นหนทางไปสู่การออกแบบชีวิตของเราในขั้นตอนต่อไป

สำหรับเนื้อหาในตอนต่อไป จะชวนทุกคนมามองหาแนวทางอาชีพที่ใช่ ผ่านการเค้นสมองด้วยแบบฝึกหัดที่ทดลองทำตามได้จริง สามารถติดตามอ่านสรุป week 3 ได้ในบทความถัดไปค่า