หาค่า NPV ง่ายๆด้วยตัวเอง


NPV คืออะไร

Net Present Value (NPV) หรือ มูลค่า-ปัจจุบัน-สุทธิ (แปลตรงตัวไปมั้ย 5555) พูดแบบภาษาเข้าใจง่ายๆหน่อย มันคือ ผลตอบแทนแบบสุทธิ(Net) ที่เราคิดว่าจะได้รับจากการลงทุนในโครงการอะไรสักอย่าง 

โดยทั่วไป เวลาที่เราอยากรู้ว่าธุรกิจได้กำไรหรือขาดทุนนั้น สามารถคิดแบบง่ายๆ ด้วยการเอา รายได้ ลบ ต้นทุน ออกมาเป็น กำไร/ขาดทุน  การหาค่า NPV ก็ใช้หลักการคล้ายๆกัน เพียงแต่มันมีเรื่องของมูลค่าของเงินตามเวลา(Time Value Of Money) เข้ามาเกี่ยวข้อง

เนื่องจากมูลค่าของเงินในวันนี้ กับเงินในอนาคตมันไม่เท่ากัน ตัวอย่างที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ คือ ถ้าให้เลือกระหว่าง รับเงิน 1,000 บาทในวันนี้ กับ รับเงิน 1,000 บาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะเลือกรับเงินตอนไหน 

คนส่วนใหญ่ยังไงก็เลือกรับเงินในวันนี้อยู่แล้ว เพราะเมื่อได้รับเงิน 1,000 บาทมา เราก็จะพยายามหาหนทางทำให้เงินมันโต(ให้เงินทำงาน ว่าซั่นนนน) ง่ายที่สุดคือเอาไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ย ผ่านไป 5 ปี มูลค่าที่ได้ย่อมมากกว่า 1,000 บาท แน่นอน และนี่แสดงให้เห็นว่าเงิน ณ เวลาที่ต่างกัน จะมีมูลค่าไม่เท่ากัน

อีกหนึ่งคำศัพท์ที่เราควรจะต้องรู้จัก ก่อนที่จะไปคำนวณหาค่า NPV คือ กระแสเงินสดสุทธิ(Net) พูดง่ายๆ มันคือ เงินที่ธุรกิจได้รับ ลบด้วย เงินที่ธุรกิจจ่ายออก เหลือเป็นกระแสเงินสดสุทธิ(Net)ของเรา นั่นเอง

การคำนวณ NPV นั้นต้องแปลงกระแสเงินสดสุทธิ(Net) ที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละปี ให้กลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันก่อน กระแสเงินสดสุทธิ(Net) เหล่านั้นจึงจะสามารถเอามา ลบ กับเงินลงทุนเริ่มต้นและได้คำตอบเป็นค่า NPV ของโครงการค่ะ

ตัวอย่างเช่น ถ้าลิซ่าลงทุนทำร้านชาบูด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท 
ในปีแรก ร้านชาบูมีกระแสเงินสดสุทธิ(Net) 400,000 บาท 
ปีที่ 2 มีกระแสเงินสดสุทธิ(Net) 500,000 บาท และ
ปีที่ 3 มีกระแสเงินสดสุทธิ(Net) 600,000 บาท

อยากรู้ว่าการลงทุนทำร้านชาบูของลิซ่า นี้ มี NPV เท่ากับเท่าไหร่

สำหรับสายโหดที่อยากหาค่า NPV ด้วยมือ! เรามาดูสูตรในการหาค่า NPV กันก่อนเลยค่า

สูตรในการหาค่า Net Present Value (NPV)

จากตัวอย่างร้านชาบูของลิซ่า สามารถแปลงกระแสเงินสดสุทธิ(Net)ในแต่ละปีกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันเพื่อหาค่า NPV ได้ดังนี้

วิธีการหาค่า NPV ด้วยการเพื่อแปลงกระแสเงินสดสุทธิ(Net)ในอนาคตให้กลับมูลค่าปัจจุบันแล้วนำไปลบจากเงินลงทุนเริ่มแรก

ดังนั้น NPV ที่ได้จึงมี ค่าเท่ากับ 227,648.38 บาท นั่นเองค่า (-1,000,000 + 363,636.36 + 413,223.14 + 450,788.88)

ถ้าใครไม่ถนัดคิดมือ อาจจะคิดเองง่ายๆ โดยการใช้ Excel หรือ แอป Financial Calculator ใน Smart Phone หรือ Tablet ก็ได้ค่ะ

ลองมาดูเครื่องมือแรกกันก่อนเลย

  • ใช้ Excel

หลังจากเปิดโปรแกรม Excel ให้ใส่ข้อมูลกระแสเงินสดสุทธิ(Net)ของร้านชาบูลงไปก่อน

การหาค่า NPV ของการเปิดร้านชาบูของ ลิซ่า ด้วยโปรแกรม Excel

CF 0 คือ เงินลงทุนแรกเริ่ม ตอนต้นปีที่ 1 มูลค่า 1,000,000 บาท (อย่าลืมใส่เครื่องหมายลบหน้าตัวเลข 1 ล้านด้วยนะคะ เนื่องจากเป็นกระแสเงินออกที่เราใช้เพื่อการลงทุน)

CF 1 คือ กระแสเงินสดสุทธิ ตอนสิ้นปีที่ 1 มูลค่า 400,000 บาท

CF 2 คือ กระแสเงินสดสุทธิ ตอนสิ้นปีที่ 2 มูลค่า 500,000 บาท

CF 3 คือ กระแสเงินสดสุทธิ ตอนสิ้นปีที่ 3 มูลค่า 600,000 บาท

สำหรับ อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง คือตัวเลขที่จะนำมาใช้เป็น Discount Rate ในการแปลง กระแสเงินสดสุทธิ(Net)ในอนาคต ให้กลายเป็นมูลค่าปัจจุบัน 

แล้วอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังควรเป็นเท่าไหร่ดี

ให้ลองนึกภาพเวลาที่เราลงทุนในโครงการอะไรสักอย่าง อย่างน้อยๆ ผลตอบแทนที่เราหวังว่าจะได้ ก็ควรจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เรากู้ยืมเงินมา (ุถ้าผลตอบแทนที่ได้น้อยกว่าดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินมาก็เท่ากับเราขาดทุนหน่ะสิ)  ดังนั้น อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังนั้น เราจะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เปรียบเสมือนต้นทุนทางการเงินของเรา อย่างตัวอย่างโจทย์ร้านชาบูของลิซ่านี้ สมมุติให้มีต้นทุนทางการเงินที่ 10% ค่ะ

ทีนี้เราก็สามารถคำนวณหา NPV ได้ แค่พิม

=NPV(อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง,กระแสเงินสดสุทธิสิ้นปีที่ 1 ถึง สิ้นปีที่ 3)+เงินลงทุนตั้งต้น
(ตั้งแต่หลัง NPV เป็นต้นไป ให้เอาเม้าส์ไปคลิกที่เซลล์ไม่พิมนะค้า 5555)

แล้วกด Enter ก็จะได้ค่า NPV ออกมา เท่ากับ 227,648.38 บาท ค่า

จะเห็นได้ว่า ถ้า NPV มีค่าเป็นบวก แสดงว่าการลงทุนในโครงการนั้นมีผลกำไร น่าลงทุน
ในทางตรงข้าม ถ้า NPV มีค่าเป็นลบ แสดงว่าโครงการนั้นขาดทุน เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่าค่า

สำหรับเครื่องมือตัวที่สอง

  • ใช้แอป Financial Calculator

สำหรับใครที่ยังไม่มีแอปนี้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่
App Store สำหรับระบบ IOS และ
Google Playstore สำหรับระบบ Android 

หลังจากติดตั้งแอปเสร็จแล้วก็สามารถใช้งานได้เลยค่ะ 

  1. กดเข้าไปที่ IRR NPV Calculator

2. ช่อง Discount Rate จะเป็นตัวเลขที่เราจะใช้ในการแปลง กระแสเงินสดสุทธิ(Net)ในอนาคต ให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน นั่นก็คือ อัตราผลตอบแทบที่คาดหวัง แบบที่เราใช้ตอนคิดด้วย Excel นั่นเอง

3. สำหรับ Cashflow นั้น เหมือนกับตอนที่เราคิดด้วย Excel เลย ที่สำคัญ ถ้ามันเป็นเงินที่เราจ่ายออก อย่าลืม! ให้ใส่เครื่องหมายลบ หน้าตัวเลขด้วย

4. ใส่ตัวเลขครบถ้วนก็ กด CALCULATE แอปก็จะคำนวณค่า NPV ออกมาได้ เท่ากับ 227,648.38 บาท เท่ากันเป๊ะเลยค่า

เป็นยังไงกันมั่งคะ สำหรับวิธีการคำนวณหาค่า NPV ด้วยตัวเอง ง่ายกว่าที่คริสสสส เยอะเลยใช่มั้ยคะ ใครถนัดใช้เครื่องมือตัวไหนก็ลองฝึกเล่นกันดูได้น้า

สำหรับโพสต่อไป แอดจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ IRR เครื่องมือที่เป็นที่นิยมใช้ในการคำนวณเพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนว่า ลงทุนแบบไหนให้อัตราผลตอบแทนภายในได้ดีกว่ากัน

แล้วเจอกันใหม่โพสหน้าค่า


สำหรับใครที่อยากปรึกษาเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ วางแผนภาษี กองทุนรวม ประกันสุขภาพ สามารถทักส่วนตัวมาในเฟซบุ๊คเพจ แอร์หมวยขี้งก ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆค่า


Comments

One response to “หาค่า NPV ง่ายๆด้วยตัวเอง”

  1. […] ลองกลับไปอ่านบทความก่อนหน้าเรื่องหาค่า NPV ง่ายๆด้วยตัวเอง […]

    Like

Leave a comment